ประวัติกิจการวิทยุ กิจการวิทยุได้อุบัติขึ้นในโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๑ เมื่อศาสตราจารย์ชาวเยอรมัน ชื่อDr. Heinrich Rudolf Hertz เป็นบุคคลแรกที่ได้นำเอาทฤษฎีการแผ่กระจายพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าของศาสตราจารย์ชาวสก๊อต ชื่อ James Clerk Maxwell มาทำการทดลองพิสูจน์ว่า ทฤษฎีดังกล่าวมีความเป็นจริง กล่าวคือ มนุษยชาติสามารถทำให้มีการแผ่กระจายพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าออกไปในอากาศมีลักษณะเป็นคลื่นที่เรียกว่า “Radio Wave” ได้ในอัตราความเร็วเท่ากับแสง คือ ประมาณ ๓๐๐ ล้านเมตรต่อวินาที และสามารถรับพลังงานนั้นคืนมาได้ ทั้งยังพิสูจน์ให้เห็นว่า พลังงานดังกล่าวสามารถสะท้อนและหักเหได้เช่นเดียวกับแสง ต่อจากนั้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘ ชาวอิตาเลียนเชื้อสายไอริช ชื่อ มาร์โคนี (Guglielmo Marconi) ได้นำผลการทดลองของ Hertz มาขยายทำการทดลองค้นคว้าต่อ แล้วนำมาประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ เป็นสื่อนำสัญญาณในการสื่อสารทางไกลสำหรับการติดต่อทางโทรเลขและโทรศัพท์อีกวิธีการหนึ่ง นอกเหนือจากการสื่อสารทางไกลโดยใช้สายที่มีอยู่แต่เดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ในการสื่อสารทางวิทยุ ดังนั้น จึงได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้มีการทดลองรับ-ส่งวิทยุขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๔๗ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดผู้แทนของประเทศไทยเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับวิทยุโทรเลขระหว่างประเทศเป็นครั้งแรก ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ปี พ.ศ. ๒๔๔๙
แต่เดิมนั้น ยังไม่มีคำศัพท์ภาษาไทยสำหรับคำว่า “RADIO” โดยเฉพาะ จึงใช้ทับศัพท์ ว่า “ราดิโอ” ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบัญญัติเป็นคำศัพท์ภาษาไทยว่า “วิทยุ” ซึ่งมาจากคำศัพท์ภาษาบาลีว่า “วิชชุ” แปลว่า “สายฟ้า”
กิจการวิทยุสมัครเล่นได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ โดยนายเสงี่ยม เผ่าทองศุข อดีตรองอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “อนุสรณ์ครบรอบ ๕๐ ปี ของการแต่งงาน เสงี่ยม-วัฒนา เผ่าทองศุข” ว่า
“…ปี พ.ศ.๒๔๗๙ กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้มอบหมายให้นายเสงี่ยม เผ่าทองศุข หัวหน้าแผนกช่างวิทยุ ดำเนินการทดลองวิทยุสื่อสารแบบนักวิทยุสมัครเล่น (Amateur Radio) โดยเครื่องส่งวิทยุโทรเลข กำลัง ๕๐๐ วัตต์ ใช้สัญญาณเรียกว่า HS 1 PJ เป็นความถี่ย่าน ๑๔ เมกะเฮิรตซ์ เริ่มทำการทดลองตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๙ ต่อมาได้ทดลองใช้เครื่องส่งเล็กๆ ที่สร้างขึ้นใหม่ คือ เครื่องที่ใช้สัญญาณเรียกขาน HS 1 RJ กำลัง ๑๐๐ วัตต์ และเครื่องที่ใช้สัญญาณเรียกขาน HS 1 BJ กำลัง ๕ วัตต์ ทดลองสื่อสารทั้งวิทยุโทรเลขและวิทยุโทรศัพท์จนสามารถติดต่อกับสถานีวิทยุสมัครเล่นในต่างประเทศได้ทั่วทุกทวีป…”
วัตถุประสงค์หลักของกิจการวิทยุสมัครเล่นได้แก่
๑. เพื่อการทดลองติดต่อสื่อสารทางวิทยุกับเพื่อนนักวิทยุสมัครเล่นทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศในลักษณะงานอดิเรก
๒. เพื่อการศึกษาทดลองค้นคว้าทางวิชาการวิทยุที่กระทำกันขึ้นเองด้วยความสมัครใจ และทุนทรัพย์ส่วนตัวของผู้ที่สนใจในวิชาการแขนงนี้ โดยมีความยินดีและพอใจที่จะให้จินตนาการของตนนั้นบังเกิดเป็นรูปธรรมขึ้น และจะมีความยินดีและพอใจยิ่งขึ้น เมื่อภาครัฐ และหรือ ภาคเอกชนนั้นได้นำผลการทดลองค้นคว้าของตนไปพัฒนาสืบต่อให้บังเกิดผลผลิตซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
๓. ในโอกาสต่อมา ได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์เสริมเกี่ยวกับการอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม พายุถล่ม ฯลฯ โดยใช้เครื่องวิทยุสมัครเล่นเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร ให้การสนับสนุนการปฏิบัติงานช่วยเหลือประสบภัยพิบัติดังกล่าว
ผลการศึกษาค้นคว้าต่างๆ ของนักวิทยุสมัครเล่นตั้งแต่ในยุคต้นๆ ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลให้เทคโนโลยีโทรคมนาคมของโลกวิวัฒนาการออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาล สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติอย่างแท้จริง
ดังนั้น หากไม่มีหลักฐานอื่นมาหักล้าง หรือ พิสูจน์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น นักวิทยุสมัครเล่นไทยควรจะยอมรับ และยกย่องว่า “Dr. Heinrich Rudolf Hertz เป็นนักวิทยุสมัครเล่นคนแรกของโลก และ นายเสงี่ยม เผ่าทองศุข เป็นนักวิทยุสมัครเล่นคนแรกของประเทศไทย”
เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๗ นายเสงี่ยม เผ่าทองศุข พันโท (ยศขณะนั้น) กำชัย โชติกุล และนายโจนัส เอ็ดดี้ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อ นามสกุลเป็นนายอมฤทธิ์ จิรา) ได้ริเริ่มร่วมกันดำเนินเรื่องขอจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ซึ่งในการประชุมใหญ่ครั้งแรก ที่ประชุมได้คัดเลือกให้นายสุรเดช วิเศษสุรการ เป็นนายกสมาคมคนแรก
อย่างไรก็ตาม กิจการวิทยุสมัครเล่นและบทบาทของสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย มิได้ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมที่แน่ชัดนัก น่าเชื่อว่า นักวิทยุสมัครเล่นเมืองไทยในยุคนั้นส่วนใหญ่ มุ่งหมายเพียงเพื่อหวังผลในการติดต่อสื่อสารกับสถานีวิทยุสมัครเล่นต่างประเทศเป็นงานอดิเรกของส่วนบุคคล มากกว่าที่จะหันหน้าเข้าหากัน ร่วมกันขวนขวายถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการและผลงานของนักวิทยุสมัครเล่นในต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้งานเพื่อการพัฒนากิจการวิทยุคมนาคมของประเทศตามวัตถุประสงค์สำคัญของกิจการวิทยุสมัครเล่นในข้อ ๒ แต่อย่างใด
ผมได้เริ่มเรียนรู้กิจการวิทยุสมัครเล่นในขณะที่ผมเข้ารับราชการในตำแหน่งนายช่างวิทยุผู้ช่วยตรี ประจำสถานีเครื่องส่งวิทยุต่างประเทศ กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข ทุ่งสองห้อง หลักสี่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ โดยได้ศึกษาจากหนังสือตำราต่างประเทศซึ่งมีการจัดพิมพ์จำหน่ายเป็นรายปี ชื่อ “The Radio Amateur Handbook” นับได้ว่าเป็น ตำราช่างวิทยุเล่มแรกของผมอย่างแท้จริง แต่เนื่องจากผมมีความรู้พื้นฐานด้านช่าง จึงมีความสนใจที่จะศึกษาค้นคว้าในด้านการทดลองประกอบสร้างเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ตั้งเป็นสถานีวิทยุทดลองกระจายเสียง “หลักสี่” เพื่อส่งออกอากาศแข่งขันกับสถานีวิทยุทดลองกระจายเสียง “๑ ปณ.” ของคุณเสงี่ยม เผ่าทองศุข และสถานีวิทยุทดลองกระจายเสียงของกรมจเรทหารสื่อสาร หรือ “จส.” ของพันเอก การุณ เก่งระดมยิง ซึ่งกำลังมีชื่อเสียงโด่งดัง มีแฟนมากมายในขณะนั้น มากกว่าการทดลองติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศในลักษณะวิทยุสมัครเล่น ความรู้และประสบการณ์ในวิชาการช่างวิทยุทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่ผมได้ศึกษาจากหนังสือเล่มนี้ จึงได้ช่วยพัฒนาปัญญาของผมจากผู้ที่มีวุฒิภาวะจบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์แผนกไฟฟ้า จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ และมีความรู้เกี่ยวกับวิชาวิทยุเพียงแค่หางอึ่งจริงๆ เพราะวิชานี้มีสอนอยู่ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่ชั่วโมง ให้เป็นวิศวกรที่ได้มีบทบาทมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนากิจการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศ ดังที่ได้มีผลงานปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ได้อย่างแท้จริง
ผมได้เข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๒๑ รับมรดกสืบทอดจากคุณศรีภูมิ ศุขเนตร ในสภาพมีเสื่อหนึ่งผืนหมอนหนึ่งใบจริงๆ มีผู้ใต้บังคับบัญชาติดตามมาไม่กี่ร้อยคน มีอาคารเก่าๆ เป็นที่ทำการ มีที่ดินราชพัสดุอยู่ในครอบครองอยู่อีก ๒-๓ แห่งพร้อมกับลายแทงขุมทรัพย์ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ คือ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๘ โดยที่ผมได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้เคยสัมผัสกับแก่นแท้ของกิจการวิทยุสมัครเล่นมาแล้วตั้งแต่ต้น ผมจึงได้ให้ความสนใจ และริเริ่มนำเอากิจการวิทยุสมัครเล่นมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนากิจการวิทยุคมนาคมของประเทศ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของกรมไปรษณีย์โทรเลข โดยเน้นหนักเรื่องการศึกษาทดลองค้นคว้าในด้านวิชาการ ตามวัตถุประสงค์หลักของกิจการวิทยุสมัครเล่นข้อ ๒ เป็นสำคัญ ประกอบกับในช่วงเวลานั้น ได้มีการลักลอบสั่งซื้อนำเครื่องวิทยุสมัครเล่นเข้ามาในราชอาณาจักร และเปิดสถานีวิทยุสมัครเล่นทั้งติดต่อกันเองภายในประเทศ และติดต่อกับต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมไปรษณีย์โทรเลขตามกฎหมายแพร่หลายมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งเป็นการกระทำทั้งโดยเจตนา และรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือ ไม่ทราบว่า ในเมืองไทยมีกฎหมายวิทยุคมนาคมอยู่ จึงได้พิจารณาเห็นว่า การสนับสนุนกิจการวิทยุสมัครเล่นอย่างจริงจังนอกจากจะบังเกิดประโยชน์ในด้านการพัฒนากิจการวิทยุคมนาคมของประเทศแล้ว ยังจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่อง เครื่องวิทยุเถื่อน สถานีวิทยุเถื่อน ที่กำลังเกิดขึ้นได้ เท่ากับ ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว ผมจึงได้เริ่มดำเนินการตามแผนการต่างๆ ดังจะกล่าวต่อไปนี้
๑. ได้ออกประกาศกรมไปรษณีย์โทรเลขลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๔ แจ้งให้ผู้ที่มีเครื่องวิทยุคมนาคมประเภทวิทยุสมัครเล่น และเครื่องอุปกรณ์ประกอบไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคมฯ ไปติดต่อขออนุญาตมี ใช้ และตั้งสถานีวิทยุตามกฎหมายต่อจากนั้น ได้ออกประกาศเกี่ยวกับกิจการวิทยุสมัครเล่นออกมาเป็นระยะๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในกิจการนี้ และให้ผู้ที่สนใจมีความรู้ ความเข้าใจในตัวบทกฎหมาย และวัตถุประสงค์สำคัญของกิจการวิทยุสมัครเล่นมากขึ้นโดยลำดับ
๒. เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๔ ได้เชิญคุณเสงี่ยม เผ่าทองศุข พันเอก กำชัย โชติกุล และคุณอมฤทธิ์ จิรา ผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ไปประชุมปรึกษาหารือเพื่อรื้อฟื้นกิจการวิทยุสมัครเล่นในประเทศไทยขึ้นมาใหม่ภายหลังที่ได้สงบซบเซาไปนานหลายปี
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องของสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยมิได้ก้าวหน้าบรรลุประโยชน์ตามที่ผมได้มอบหมายให้ไป เนื่องจากบุคคลที่จะเป็นกลไกสำคัญยังมีความคิดขัดแย้งแตกแยกกัน จึงไม่สามารถผนึกกำลังจากสมาคมนี้ได้เท่าที่คาดคิด
๓. ได้ดำเนินเรื่องติดต่อสอบถามไปยังเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ขอทราบผลการพิจารณาเรื่องที่กรมไปรษณีย์โทรเลขขอรับความเห็นชอบในการเปิดกิจการวิทยุสมัครเล่นขึ้นภายในประเทศเป็นระยะๆ แต่ไม่เคยได้รับคำตอบ
ผมจึงตัดสินใจแก้เผ็ดส่วนราชการนั้น โดยการจัดตั้งข่ายวิทยุอาสาสมัครขึ้น โดยเอาตำแหน่งหน้าที่ของผมเป็นเดิมพันประกาศจัดตั้งชมรมนักวิทยุอาสาสมัครขึ้นในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๔ โดยได้จัดสรรความถี่วิทยุย่าน ๑๔๔-๑๔๖ MHz. หรือที่เรียกว่า "Two Meter Band" ซึ่งเป็นความถี่ในย่านวิทยุสมัครเล่น รวมทั้งการนำเอาประมวลสัญญาณ คือ Q-Codes ที่ใช้ในกิจการวิทยุสมัครเล่นสากล มาใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในข่ายนี้
ผมได้กำหนดวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดตั้งชมรมนี้ไว้ ๒ ประการ คือ
๑. เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้อาสาสมัครช่วยเหลือสังคมส่วนรวมโดยการรายงานข่าวปัญหาสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ในท้องถิ่น ในสาธารณสถานให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องรับทราบและแก้ไขปัญหาได้ทันเหตุการณ์ โดยใช้เครื่องวิทยุคมนาคมที่ตนครอบครองเป็นเครื่องมือรายงานข่าว (ใช้วิธีการรายงานข่าวเช่นเดียวกับการรายงานข่าวการจราจร และข่าวอุบัติภัยของสมาชิกของสถานีวิทยุกระจายเสียง จส.๑๐๐ และ สวพ.๙๑ ในปัจจุบันนี้ แตกต่างกันที่เครื่องมือสื่อสารที่ใช้รายงานข่าวเท่านั้น)
๒. เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเทคนิคการติดต่อสื่อสารในกิจการวิทยุสมัครเล่น แต่ไม่มีโอกาสกระทำได้เช่นเดียวกับนานาประเทศซึ่งได้มีความเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า กิจการวิทยุสมัครเล่นมีบทบาท และเป็นกลไกสำคัญในการวิจัยพัฒนากิจการวิทยุคมนาคมของโลก ทั้งนี้ เนื่องจาก ส่วนราชการของรัฐคือ สภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้น ยังมีความหวาดระแวงว่า กิจการวิทยุสมัครเล่นจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ จึงได้ประวิงหน่วงเหนี่ยว แช่เย็นไว้ไม่ยอมให้กรมไปรษณีย์โทรเลขดำเนินการตามที่ได้ขอไป
นักวิทยุอาสาสมัครทุกคนจึงได้ถือว่า วันที่ ๕ ธันวาคม เป็นวันสำคัญยิ่งของกลุ่มนักวิทยุอาสาสมัคร และชมรมนี้ได้มีบทบาทในการอาสาสมัครช่วยเหลือบ้านเมืองประเทศชาติในรูปแบบต่างๆ มากมายหลายประการ จนเป็นที่ยอมรับของส่วนราชการและสังคมเมืองไทยในขณะนั้น นอกจากนี้ ยังกล่าวได้ว่า กิจการวิทยุอาสาสมัครนี้เองที่ได้ปูรากฐานให้กิจการวิทยุสมัครเล่นของประเทศไทย ฟื้นตัวขึ้นใหม่ ก่อตัวเป็นรูปร่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างแท้จริง เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๓๐ และเจริญเติบใหญ่ มีสมาชิกมากมายมาจนทุกวันนี้
ผมได้นำเรื่องการจัดตั้งชมรมวิทยุอาสาสมัครนี้กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบ เมื่อผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระอยู่หัวเป็นการส่วนพระองค์ พระองค์ท่านได้รับสั่งว่า “เป็นการดี พวกเขา (นักวิทยุอาสาสมัคร) จะได้ภาคภูมิใจ” และได้ทรงรับสัญญาณเรียกขาน “วีอาร์-๐๐๙” ที่ผมได้ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นสัญญาณเรียกขานประจำพระองค์ (ผมใช้สัญญาณเรียกขานประจำตัวว่า “วีอาร์-๐๐๑”) เป็นการยืนยันว่า พระองค์ท่านได้ทรงเข้าร่วมในข่ายวิทยุอาสาสมัครตั้งแต่วันนั้น
ชมรมนักวิทยุอาสาสมัครใช้สัญญาณเรียกขานประจำสถานีว่า “วีอาร์-… (VR-…)” มิได้ใช้ “HS-…” ดังเช่นนักวิทยุสมัครเล่น เนื่องจากเหตุผลทางด้านบริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้น ดังกล่าวแล้วข้างต้น
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๔ พวกเราได้มีโอกาสรับฟังพระราชกระแสของพระองค์ท่านผ่านข่ายวิทยุอาสาสมัครเป็นครั้งแรก ภายหลังที่นักวิทยุอาสาสมัครได้ร่วมกันกล่าวคำถวายพระพรทางวิทยุในวันพระชนมพรรษาปีนั้นว่า “วีอาร์ ๐๐๑ จาก วีอาร์ ๐๐๙ ขอขอบใจวีอาร์ทุกคน” นักวิทยุอาสาสมัครทุกคนที่ได้มีโอกาสได้รับฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว บางท่านขนลุกซู่ บางท่านน้ำตาไหลด้วยความปิติยินดีเป็นล้นพ้น
ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเข้าร่วมในข่ายวิทยุอาสาสมัคร โดยได้ทรงทดสอบสัญญาณ รายงานสถานภาพของสถานี หรือ เช็คเนตกับศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” ของกรมไปรษณีย์โทรเลขตามระเบียบที่วางไว้เป็นประจำ พระองค์ท่านได้ทรงเคร่งครัดต่อระเบียบข้อบังคับกฎเกณฑ์กติกาของชมรมวิทยุอาสาสมัคร เช่นเดียวกับนักวิทยุอาสาสมัครทั่วไป ทรงจดจำ
ประมวลสัญญาณ หรือ Q-Codes ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในข่ายได้อย่างแม่นยำ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักดีว่า นักวิทยุอาสาสมัครจำนวนไม่น้อยมีความสนใจที่จะขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมในด้านเทคนิคการติดต่อสื่อสารทางวิทยุเพื่อพัฒนาตนเองให้มีทักษะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ในฐานะที่พระองค์ท่านได้ทรงมีความรู้ และประสบการณ์ในเทคนิคแขนงนี้สูงกว่า เนื่องจากได้ทรงผูกพันอยู่กับเรื่องการสื่อสารทางวิทยุมาก่อนเป็นเวลานานกว่า ๑๓ ปี จึงทรงพระกรุณาที่จะพระราชทานความรู้เพิ่มเติมให้แก่นักวิทยุอาสาสมัครอยู่เป็นประจำ โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ประจำพระองค์ ซึ่งเป็นนักวิทยุอาสาสมัคร ตั้งคำถามเกี่ยวกับเทคนิคในการติดต่อสื่อสารทางวิทยุ เช่น เรื่องการแผ่กระจายของคลื่นวิทยุ สายอากาศ เป็นต้น และให้ผมเป็นผู้ตอบปัญหาทางอากาศขึ้นทุกตอนเย็นเป็นประจำในช่วงเวลาประมาณ ๑๗.๐๐-๑๘.๐๐ น. เพื่อให้นักวิทยุอาสาสมัครอื่นๆ ที่มีความสนใจได้รับฟังเป็นการเพิ่มพูนความรู้ไปด้วย ในบางโอกาส ได้ทรงเข้าร่วมสนทนาด้วย ในโอกาสนี้ จะทรงช่วยขยายความคำอธิบายตอบปัญหาของผมซึ่งทรงเห็นว่า สั้นเกินไป ฟังแล้วยังเข้าใจยาก เพื่อให้ผู้รับฟังได้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น
นักวิทยุอาสาสมัครหลายท่านได้รับการต่อว่าจากตำรวจท้องที่หลายครั้งว่าข่ายวิทยุอาสาสมัคร หรือ ข่ายวีอาร์ เข้าไปกวนข่ายวิทยุของตำรวจนครบาลเหนือ (รามา) และนครบาลธนบุรี (กรุงธน) อยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่ความถี่ห่างกันมาก จึงได้หยิบยกปัญหานี้มาออกอากาศ ขอรับคำแนะนำจากผู้รู้ในรายการตอบปัญหาทางอากาศในข่ายวิทยุอาสาสมัครประจำวัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งได้ทรงพระกรุณากำกับรายการนี้อยู่ จึงได้ทรงหยิบยกประเด็นปัญหานี้มาเฉลยว่า ขอให้ทดลองนำเอาความถี่ของข่ายวีอาร์ (ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนจะเป็นช่อง ๒ หรือช่อง ๓ เดิม) ไปลบจากความถี่ของตำรวจดูจะได้ผลลัพธ์เท่ากับความถี่ IF ของเครื่องรับ-ส่งวิทยุมือถือ ICOM แบบ ๐๒ N หรือ ๐๒ A คือ ๑๖.๙๐ MHz หารด้วย ๒ หรือ ๘.๔๕ MHz ที่ตำรวจใช้กันอยู่ในขณะนั้นพอดี
เครื่องรับ-ส่งวิทยุประจำที่ซึ่งได้ทรงใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในข่ายวิทยุอาสาสมัครเป็นเครื่องวิทยุยี่ห้อ “YAESU” รุ่น FT-726 ซึ่งเป็นเครื่องยี่ห้อและรุ่นเดียวกับที่ศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” ใช้ เครื่องวิทยุดังกล่าวมีหน้าปัด มีปุ่มควบคุมบังคับการทำงานในหน้าที่ต่างๆ ค่อนข้างสลับซับซ้อน สร้างความยุ่งยากสับสนแก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ไม่น้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาพระราชทานคำแนะนำวิธีใช้ที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำเพื่อให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ใช้เครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ประสบปัญหาทางเทคนิคต่างๆ อาทิ การรบกวนในลักษณะการผสมคลื่นระหว่างกัน (Intermodulation) การแผ่กระจายคลื่นที่ไม่ต้องการ (Spurious Radiations) จากสถานีวิทยุกระจายเสียง ๑ ปณ. ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน และจากสถานีวิทยุคมนาคมอื่นๆ ซึ่งเป็นผลจากความถี่ที่ใช้งานคลาดเคลื่อน อัตราการผสมคลื่น (Modulation Index) มากเกินพิกัด เป็นต้น
เรื่องการรบกวนจากสถานีวิทยุกระจายเสียงที่ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานีวิทยุคมนาคมจนเป็นเหตุให้เกิดการรบกวน มีเสียงจากรายการวิทยุกระจายเสียงเข้ามาสอดแทรกระหว่างการติดต่อสื่อสารนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน เนื่องจากในบริเวณสวนจิตรลดา มีสถานีวิทยุกระจายเสียง อ.ส. ซึ่งมีกำลังส่งสูง ตั้งอยู่ไม่ห่างจากพระตำหนักฯ มากนัก การติดต่อสื่อสารทางวิทยุของพระองค์ท่านจึงถูกสถานีวิทยุแห่งนี้รบกวนมาแล้ว และได้ทรงทดลองศึกษาค้นคว้าจนกระทั่งสามารถแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้ได้ ดังนั้น เมื่อได้ทรงสังเกตพบในระหว่างที่ได้ทรงรับฟังสัญญาณจากศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” ว่า กำลังประสบปัญหาถูกรบกวนจากสถานีวิทยุกระจายเสียง ๑ ปณ. ซึ่งมีกำลังส่งสูงและตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน จึงได้ทรงพระกรุณาพระราชทานแนะนำให้มีการตรวจสอบระบบสายดิน (Ground) ของไมโครโฟน และสายที่เชื่อมต่อเข้ากับเครื่องวิทยุ ด้วยเหตุผลว่า หากระบบสายดินไม่ดี ต่อไว้ไม่แน่น หรือ ขั้วต่อรอยต่อไม่สะอาดเป็นสนิม จะเกิดการชักนำเอาสัญญาณวิทยุกระจายเสียงเข้ามาทำให้เกิดการรบกวนขึ้นได้ หากระบบสายดินเป็นปกติเรียบร้อยดี คงจะต้องต่อวงจรกรองสัญญาณย่านต่ำ (Low Pass Filter) เพื่อป้องกันการรบกวนอีกชั้นหนึ่ง
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ในขณะที่ทรงเฝ้าฟังการทำงานของศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” อยู่ ได้ทรงสังเกตพบว่า มีสัญญาณอื่นแปลกปลอมเข้ามารบกวนในช่องสัญญาณความถี่กลางของศูนย์ฯ มีความแรงสูงมากเป็นเหตุให้ไม่สามารถรับฟังสัญญาณจากสถานีลูกข่ายได้ พระองค์ท่านได้ทรงพระกรุณาแนะนำให้ศูนย์ฯ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องอุปกรณ์ป้องกันการรบกวนที่เรียกว่า “คาวิตี้ ฟิลเตอร์ (Cavity Filter)” ซึ่งศูนย์ฯ ใช้งานอยู่ ให้มีขีดความสมารถในการบั่นทอนความแรงของสัญญาณวิทยุที่มีความถี่ไม่ตรงกับช่องปฏิบัติงานให้ได้มากยิ่งขึ้นจึงจะสามารถขจัดปัดเป่าปัญหาการรบกวนได้ โดยได้รับสั่งอธิบายทางอากาศให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ และนักวิทยุอาสาสมัครที่ร่วมรับฟังอยู่ในข่ายในขณะนั้นโดยการเปรียบเทียบความหมายของ “คาวิตี้” ให้เข้าใจได้ง่ายว่า “คาวิตี้ แปลว่า ช่องโหว่ เช่นเดียวกับช่องโหว่ของฟันที่ทำให้เราปวดฟัน…”
ศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” ใช้เสาสายอากาศที่มีความสูงมาก อยู่ในที่โล่งแจ้งพอสมควร จึงประสบปัญหาเรื่องอสุนีบาต หรือ ฟ้าลง เป็นประจำ ในขณะที่ฝนฟ้าคะนองรุนแรง เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ บางคนอยู่ในอาการหวาดผวา ไม่อยากที่จะปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกับสถานีลูกข่ายในสภาพอากาศเช่นนั้น ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานคำแนะนำที่เป็นหลักวิชา ข้อปฏิบัติ และวิธีการป้องกันฟ้าผ่าให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ได้มีความรู้และเข้าใจ เช่น การปรับปรุงระบบสายดิน ฯลฯ
วิธีการติดต่อสื่อสารในข่ายวิทยุอาสาสมัครเป็นแบบซิมเเปล็กซ์ (Simplex) ซึ่งผู้ส่งข่าว จะต้องกดคีย์ที่ไมโครโฟนเพื่อบังคับให้เครื่องส่งวิทยุทำงานส่งก่อน แล้วจึงพูดส่งข้อความไปพร้อมกับคลื่นวิทยุนำสัญญาณ หรือ คลื่นพาห์ (Carrier Wave) เมื่อส่งข้อความจบ จึงจะกล่าวคำว่า “เปลี่ยน” แล้วจึงปล่อยคีย์ เพื่อเปิดโอกาสให้คู่สถานีโต้ตอบกลับมาได้ มีอยู่บ่อยครั้งที่มีการกดคีย์ที่ไมโครโฟนนี้ค้างไว้ ทำให้เครื่องส่งวิทยุนั้นส่งคลื่นวิทยุนำสัญญาณแผ่กระจายออกมาตลอดเวลาทั้งโดยเจตนาเพราะไม่มีวินัยไร้มารยาทในการติดต่อสื่อสาร และทั้งโดยไม่เจตนา เป็นเหตุให้ไม่สามารถใช้ช่องสัญญาณความถี่นั้นติดต่อกันได้ บางทีก็ใช้วิธีกดคีย์ไมโครโฟนเข้าแทรกในจังหวะเวลาช่องว่างระหว่างการสนทนา มีอยู่ครั้งหนึ่ง ในขณะที่กำลังพระราชทานคำแนะนำในด้านวิชาการให้แก่ศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้เวลานานพอสมควร ได้มีการกระทำในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นระยะสั้นๆ หลายครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตรวจสอบความแรงของสัญญาณ และความถี่ของสถานีวิทยุที่กดคีย์เข้ามาแล้ว ทรงทราบว่า เป็นสัญญาณที่แปลกปลอมเข้ามา จึงได้รับสั่งให้ผู้ที่กำลังรับฟังพระราชกระแสอยู่ว่า “คงเป็นเพราะเราผูกขาดความถี่มานานพอสมควร คนอื่นอยากเข้ามา ถ้าเข้ามาก็เชิญ วีอาร์-๐๐๙ เคลียร์ ไม่ต้องเบรก” (เคลียร์=Clear เป็นภาษาพูดของนักวิทยุอาสาสมัครแจ้งความประสงค์ขอเลิกการติดต่อ เบรก=Break เป็นภาษาพูดของนักวิทยุอาสาสมัครแจ้งความประสงค์ขอเข้าแทรกระหว่างการสนทนาในช่องสัญญาณทางวิทยุของคู่สถานีหนึ่ง)
ดังที่ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งในการจัดตั้งชมรมนักวิทยุอาสาสมัคร คือ การอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมส่วนรวมโดยการรายงานข่าวปัญหาสำคัญต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในท้องถิ่นชุมชม สาธารณสถาน ให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องรับทราบและแก้ไขปัญหาได้ทันเหตุการณ์โดยใช้เครื่องวิทยุคมนาคมที่ตนครอบครองเป็นเครื่องมือรายงานข่าว
ในด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ชมรมวิทยุอาสาสมัครได้ร่วมปฏิบัติการกับกองบังคับการสายตรวจ และปฏิบัติการพิเศษ กรมตำรวจ ซึ่งมีศูนย์ควบคุมข่ายใช้สัญญาณเรียกขานว่า “ผ่านฟ้า” หรือที่ประชาชนรู้จักกันทั่วไปว่า “ศูนย์ ๑๙๑” ในการจัดสายตรวจร่วมโดยใช้รถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องรับ-ส่งวิทยุของนักวิทยุอาสาสมัครเป็นรถยนต์สายตรวจโดยมีนักวิทยุอาสาสมัครเป็นผู้ขับ และปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานวิทยุรายงานข่าวนั่งคู่ไปกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยนักวิทยุอาสามัครเหล่านี้จะได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ของตนว่า มิได้มีอำนาจในการจับกุมหรือปราบปรามคนร้ายตามกฎหมายแต่อย่างใด วิธีการนี้ได้ช่วยแบ่งเบาภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดรถสายตรวจของกรมตำรวจซึ่งไม่เพียงพอได้เป็นอย่างมาก
ในปัจจุบันนี้ กรมตำรวจ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ริเริ่มจัดตั้งชมรมอาสาสมัครช่วยเหลือในการรายงานข่าวสำคัญที่เป็นประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับทราบโดยรวดเร็ว สามารถออกปฏิบัติการได้ทันต่อเหตุการณ์ โดยใช้เครื่องรับ-ส่งวิทยุในย่านความถี่ประชาชน หรือ Citizen Band เป็นเครื่องมือในการรายงานข่าว ใช้ชื่อว่า “ชมรมเหยี่ยวเวหา”
เมื่อพิจารณาแนวความคิด หลักการ และวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งชมรมนี้แล้ว จะเห็นว่า มิได้แตกต่างไปจากชมรมวิทยุอาสาสมัครซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักในความสำคัญ และได้เคยทรงพระกรุณาให้การสนับสนุนในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ โดยเฉพาะในงานด้านวิชาการมาเมื่อ ๑๘ ปีที่แล้ว
ภารกิจสำคัญเรื่องหนึ่งซึ่งผู้ที่เคยเป็นนักวิทยุอาสาสมัครและนักวิทยุสมัครเล่นไทย สมควรรับทราบ จดจำ และบันทึกไว้เล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป คือ เรื่อง การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบวาตภัยที่ตำบลสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
วาตภัยที่เกิดขึ้นที่ตำบลสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี จัดเป็นอุบัติภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรง สร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ในการนี้มีนักวิทยุอาสาสมัครจำนวนหนึ่งได้เสียสละเดินทางออกไปช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัยครั้งนั้นด้วยความเต็มใจ โดยวางแผนจัดตั้งโครงข่ายเฉพาะกิจขึ้นในบริเวณที่เกิดเหตุ สามารถเชื่อมต่อประสานงานกับศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” โดยมีการรายงานข่าวสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงให้นักวิทยุอาสาสมัคร ส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบทางวิทยุเป็นระยะๆ เมื่อความได้ทราบถึงพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงติดต่อเข้ามาที่ศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” และได้พระราชทานคำแนะนำวิธีการจัดข่ายการสื่อสารเฉพาะกิจดังกล่าว โดยให้นำรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องรับ-ส่งวิทยุ เป็นสถานีวิทยุเคลื่อนที่ไปจอดปฏิบัติการณ์ในบริเวณจังหวัดราชบุรี โดยให้พิจารณาคัดเลือกสถานที่สูงๆ เพื่อเป็นสถานีถ่ายทอดข้อความการรายงานข่าวระหว่างนักวิทยุอาสาสมัครที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เหตุการณ์ กับศูนย์ควบคุมข่าย “สายลม” และนักวิทยุอาสาสมัครอื่นๆ ที่มีสถานีวิทยุซึ่งมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง สามารถติดต่อสื่อสารได้ในรัศมีไกลเป็นพิเศษ (สถานีวิทยุที่ใช้สายอากาศที่มีเกนสูง รับส่งสัญญาณวิทยุในทิศทางเดียว และสามารถบังคับทิศทางของสายอากาศได้)
นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานคำแนะนำกำชับเรื่องแบตเตอรี่ประจำเครื่องวิทยุที่ใช้ปฏิบัติงานว่า จะต้องเตรียมแบตเตอรี่สำรองที่ได้ประจุไฟเต็มไว้ไปให้เพียงพอ การบรรจุแบตเตอรี่เข้าในกระเป๋าหีบห่อสัมภาระ จะต้องระมัดระวังให้มีการใช้ฉนวนหุ้มห่อขั้วแบตเตอรี่ให้ดี มิฉะนั้น อาจเกิดปัญหาทำให้แบตเตอรี่มีการลัดวงจรไฟฟ้าระหว่างขั้วแบตเตอรี่เมื่อไปสัมผัสกับพวงกุญแจ หรือ สิ่งที่เป็นโลหะอื่นๆ ที่ปะปนอยู่ ทำให้ประจุไฟในแบตเตอรี่สำรองนั้นหมดไปเสียก่อนที่จะนำออกมาใช้งาน
พระราชกระแสแนะนำวิธีปฏิบัติต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาพระราชทานแก่นักวิทยุอาสาสมัครที่จะออกไปปฏิบัติงานทางวิทยุอยู่นานเกือบครึ่งชั่วโมง ได้สร้างเสริมขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง และได้อัญเชิญไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมด้วยความรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่น่าประทับใจ สมควรบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์วิทยุสมัครเล่นเมืองไทยไว้ด้วยเช่นกัน คือ ในวโรกาสที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผมนำนักวิทยุอาสาสมัครจำนวนหนึ่งเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์อย่างใกล้ชิดที่ศาลาดุสิตาลัย ก่อนที่จะทรงเสด็จพระราชดำเนินออกกำลังกายตามปกติ ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้ค่ำ ระหว่างที่ประทับรับสั่งกับนักวิทยุอาสาสมัครอย่างเป็นกันเอง ไม่ถือพระองค์นั้น ยุงในสวนจิตรลดาจำนวนมาก ซึ่งมีขนาดใหญ่ และมีพิษสงไม่น้อย มีชื่อเสียงมากว่า เป็นยุงที่กัดแล้วไม่ปล่อย ได้ถือโอกาสนั้นไต่ตอมโจมตีผู้ที่เข้าเฝ้าฯ อยู่อย่างชุลมุน ไม่ละเว้นแม้แต่พระองค์ท่าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งอธิบายอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการสื่อสารทางวิทยุให้แก่นักวิทยุอาสาสมัครที่เข้าเฝ้าฯ อยู่เป็นเวลานานกว่าหนึ่งชั่วโมง โดยไม่สนพระทัยเรื่องการรุมล้อมจู่โจมตีของยุง ผมต้องใช้ผ้าเช็ดหน้าคอยหมั่นโบกไล่เพื่อมิให้ระคายเคืองพระยุคลบาทอยู่ตลอดเวลา วิธีการอธิบายของพระองค์ท่านในวันนั้น จะทรงหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์เทคนิคที่ฟังแล้วเข้าใจยาก ได้ทรงใช้ภาษาพูดที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย นักวิทยุอาสาสมัครที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ในเย็นวันนั้นทุกคนจึงรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และเชื่อว่า ทุกคนจะต้องจดจำเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้ไปนานแสนนาน
มักจะมีการเข้าใจผิดกันในวงการวิทยุสมัครเล่นต่างประเทศที่มักจะสอบถามมากันว่า พระมหากษัตริย์ไทยเป็นนักวิทยุสมัครเล่นเช่นเดียวกับกษัตริย์ฮุตเซน แห่งประเทศจอร์แดน หรือไม่เพียงใด ประเด็นนี้ นักวิทยุสมัครเล่นไทยที่ติดต่อด้วยก็มักจะพลอยเออออห่อหมกยืนยันไปกับเขาว่าพระองค์ทรงเป็นนักวิทยุสมัครเล่นด้วย ผมจึงต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ไทยนั้นมิได้ทรงเป็นนักวิทยุสมัครเล่น แต่ทรงเป็นนักวิทยุมืออาชีพที่จะทรงใช้ประโยชน์ในการติดต่อสื่อสารทางวิทยุเพื่อการบรรเทาทุกข์ภัยพิบัติความเดือดร้อน และเพื่อสร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่พสกนิกรของพระองค์เท่านั้น
การติดต่อสื่อสารทางวิทยุของนักวิทยุอาสาสมัครจะใช้ความถี่วิทยุในย่านความถี่สูงมาก (VHF) ระหว่าง ๑๔๔.๐๐-๑๔๖.๐๐ MHz เป็นการติดต่อในลักษณะวิทยุโทรศัพท์ เพราะมีความมุ่งหมายเพื่อการติดต่อสื่อสารภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนนักวิทยุสมัครเล่นจะใช้ความถี่วิทยุในย่านความถี่สูง ระบบซิงเกิลไซด์แบด์ (HF Single Side Band) เป็นการติดต่อในลักษณะวิทยุโทรศัพท์ และวิทยุโทรเลข มีความมุ่งหมายเพื่อการติดต่อกับต่างประเทศเป็นสำคัญ และใช้ความถี่วิทยุในย่านความถี่สูงมาก เพื่อการติดต่อสื่อสารภายในประเทศซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการจัดตั้งชมรมวิทยุอาสาสมัครขึ้นควบคู่กัน
ผมได้เคยน้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องรับ-ส่งวิทยุสมัครเล่นกำลังสูงระบบ HF Single Sideband ให้ทรงทดลองใช้งานและพัฒนามาใช้ประโยชน์ในการสื่อสารตามพระราชประสงค์ แต่ไม่ทรงโปรด รับสั่งว่า “เหมือนกับเครื่องปิ้งปลา” (เพราะเป็นเครื่องที่ต้องใช้หลอดส่งวิทยุกำลังสูงซึ่งตัวหลอดจะร้อนมาก ต้องมีระบบระบายความร้อนด้วยพัดลมในขณะที่กำลังทำการส่งออกอากาศ) ทั้งสัญญาณที่รับฟังได้ก็ไม่ชัดเจน มีเสียงรบกวนตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงอดทนตั้งใจสดับตรับฟังสัญญาณวิทยุซึ่งไม่สู้จะชัดเจนมีเสียงรบกวนตลอดเวลาดังกล่าวข้างต้นผ่านเครื่องรับ-ส่งวิทยุสื่อสารแบบ HF Single Sideband ที่สามารถปรับความถี่ในการติดต่อสื่อสารขนาดต่างๆ ได้ตามความประสงค์ที่เรียกว่า ระบบ Synthesizer ซึ่งส่วนราชการฝ่ายทหาร ได้น้อมเกล้าฯ ถวายไว้เพื่อได้ทรงทราบข่าวสารเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับทุกข์สุขของพสกนิกรของพระองค์โดยมิได้ทรงเบื่อหน่ายแต่อย่างใด
เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ภายหลังที่ผมได้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขไม่นาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเลิกราการเข้าร่วมในข่ายสื่อสารของนักวิทยุอาสาสมัคร รวมทั้งในข่ายวิทยุสมัครเล่น ดังนั้น นักวิทยุสมัครเล่นจึงไม่มีโอกาสได้ยินพระสุรเสียงของพระองค์ท่านอีกจนกระทั่งทุกวันนี้
ถึงแม้ว่า พระองค์ท่านจะมิได้ทรงเข้าร่วมในข่ายวิทยุสมัครเล่น หรือในข่ายวิทยุอื่นๆ ดังเช่นแต่ก่อน เนื่องจากมีพระราชภารกิจที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับความร่มเย็นเป็นสุข การอยู่ดีกินดีแบบพอเพียงของพสกนิกรอยู่มากมายหลายประการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระกรุณาคุณต่อนักวิทยุอาสาสมัคร นักวิทยุสมัครเล่น และเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุของส่วนราชการต่างๆ อยู่เสมอมาโดยตลอดต่อเนื่อง ดังปรากฏในพระบรมราโชวาทที่ทรงพระกรุณาพระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นชั้นสูง และสัญญาณเรียกขานประจำพระองค์ในข่ายวิทยุสมัครเล่น ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๒ มีใจความตอนหนึ่งว่า
“ขอขอบใจท่านที่มาให้พรและนำประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นชั้นสูงและสัญญาณเรียกขานมาให้ ทำให้ปลื้มใจมาก เพราะถือว่าผู้ที่ทำการในด้านวิทยุสมัครเล่นและวิทยุอาสาสมัคร ต้องปฏิบัติการมาเป็นเวลานานพอสมควร และเข้าใจถึงเรื่องวิทยุ และวิธีศึกษาได้ดี นอกจากรู้จักหลักวิชาการและเทคโนโลยีของวิทยุ ก็จะต้องเห็นประโยชน์ของการสื่อสารที่มีต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งผู้ดำเนินงานในด้านวิทยุสื่อสารนี้ ต้องมีทั้งความสามารถ ความสนุกสนาน และความสนใจและได้รับประโยชน์ในส่วนของตัวเองเป็นอันมาก ทั้งจะต้องเห็นว่า วิทยุสื่อสารนี้เป็นประโยชน์อย่างไรในการพัฒนาและรักษาความมั่นคงของประเทศ…
สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นและเห็นใจเจ้าหน้าที่ฝ่ายควบคุมความถี่ มีคลื่นวิทยุที่กวนซึ่งกันและกันมาก ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ถ้าเป็นโดยไม่ตั้งใจ คือ ทางวิชาการของการแพร่คลื่นวิทยุที่คลื่นหนึ่ง อาจไปกวนอีกคลื่นหนึ่งได้ อย่างนี้ ถ้าเรียนรู้กันและมีวิธีแก้ไขก็จะเป็นการดี ทางฝ่ายควบคุมความถี่จึงมีความรับผิดชอบมาก…
การกวนซึ่งกันและกันของความถี่จากธรรมชาติ ความถี่ที่กวนกันนั้น ส่วนหนึ่งไม่มีทางแก้ไขและส่วนหนึ่งแก้ไขได้ คือ ต้องปรับเครื่องให้ดี รักษาระดับความถี่ให้ดี ทั้งรักษากำลังเครื่องให้ถูกต้อง แจกจ่ายความถี่ไปในพื้นที่เหมาะสมและการทำงานโดยมีวินัย”
จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่นักวิทยุอาสาสมัครที่มีอยู่เดิม และยังหลงเหลืออยู่ นักวิทยุสมัครเล่น และนักวิทยุอาสาสมัครในสังกัดชมรมต่างๆ พึงจดจำและเทิดทูนพระบรมราโชวาทดังกล่าวไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม และถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจริงจัง และจริงใจ
หากสามารถปฏิบัติได้ ผมรับรองว่า กิจการวิทยุสมัครเล่น และวิทยุอาสาสมัครในรูปแบบต่างๆ ในเมืองไทยจะเป็นกิจการที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากสังคม เป็นที่ไว้วางใจของหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๔๐ ซึ่งจะส่งผลให้กิจการนี้มีความมั่นคงเจริญรุ่งเรืองไปนานแสนนาน
ขอขอบคุณบทความจาก
ศูนย์ตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุเขต 4 (
ศว.เขต 4
สงขลา)
http://songkhla.ntc.or.th/